จะดีแค่ไหน หากเราสามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนได้ตามใจ อยากได้อะไรก็ใส่ ไม่อยากได้อะไรก็เอาออก อะไรเสียก็เปลี่ยน โมดิฟายได้ตลอดเวลาตามการใช้งาน?
แนวคิดนี้อาจจะดูฝันกลางวันไปหน่อย แต่มันเคยเกิดขึ้นจริงแล้ว ในชื่อ “Project Ara”
ใครที่ติดตามข่าวสารในวงการสมาร์ทโฟนในช่วง 5 - 6 ปีที่ผ่านมานี้ เชื่อว่าน่าจะคุ้นกับชื่อ Project Ara อยู่บ้าง เพราะเป็นโปรเจ็คท์ที่เคยสร้างความฮือฮาในวงการอย่างมาก ในฐานะสมาร์ทโฟนที่ถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ตามใจนึก ผู้ใช้สามารถเนรมิตสเปกขึ้นมาได้ตามต้องการ นับว่าเป็นโปรเจ็คท์ที่สามารถพลิกโฉมอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนได้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม สุดท้าย Project Ara ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน และกำลังจะถูกลืมไปตามกาลเวลา เพราะเหตุใดโปรเจ็คท์นี้ถึงไปไม่รอด ในวันนี้เราไปย้อนดูประวัติความเป็นมาตั้งแต่ต้นจนจบของ Project Ara กันครับ
การเดินทางของ Project Ara
การพัฒนา Project Ara เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการช่วงปี 2013 โดยทีม Advanced Technology and Projects (ATAP) จาก Motorola ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในเครือของ Google โดยมีพื้นฐานอยู่บนการสร้างสมาร์ทโฟนถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ (modular) เพื่อกระจายการพัฒนาและผลิตฮาร์ดแวร์ไปยังบุคคลทั่วไป และผู้ผลิตรายย่อย ลดการผูกขาดของบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์มือถือรายใหญ่ และให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
Spiral 1
ทีมงานใช้เวลากว่า 5 เดือนเดินทางไปทั่วอเมริกาเพื่อประชาสัมพันธ์ Project Ara จนเริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่ม developer และคนทั่วไป จนกระทั่งในที่สุดเครื่อง prototype รุ่นแรกก็ได้ปรากฏโฉมสู่สายตาชาวโลกในงาน Google I/O 2014 โดยใช้ชื่อว่า “Spiral 1” แต่ด้วยความที่ตัวโปรเจ็คท์ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ มันจึงใช้เวลาบูตเครื่องนานมาก แถมสุดท้ายยังค้างอีกต่างหาก
Spiral 2
แม้จะเป็นการเดบิวต์ที่ไม่สวยเท่าไหร่ แต่ Google ก็ไม่ยอมแพ้ ต่อมาในเดือนมกราคมปี 2015 Google ก็ได้เปิดตัว “Spiral 2” ออกมา ซึ่งคราวนี้ดูเป็นเรื่องเป็นราวกว่ารุ่นที่แล้วมาก ตัวเครื่องสามาถติดตั้งโมดูลได้มากถึง 11 ชิ้น และถอดเปลี่ยนได้ทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นหน้าจอ, หน่วยประมวลผล, แบตเตอรี่ หรือตัวรับสัญญาณ นอกจากนี้ยังมีโมดูลอื่นๆ ให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นกล้อง, แบตเตอรี่เสริม, โมเด็ม 4G LTE หรือลำโพง และที่สำคัญคือตอนนี้มันสามารถบูตเครื่อง และใช้งานได้ตามปกติแล้ว
Spiral 2 เรียกว่าไม่ได้มาเล่นๆ เพราะ Google วางแผนจะวางจำหน่าย Spiral 2 อย่างจริงจังในปี 2015 โดยเริ่มจากเปอโตริโก ซึ่งเป็นเครือรัฐของสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรกเพื่อลองตลาด ก่อนจะขยับขยายไปยังประเทศอื่นๆ ต่อไป
มาถึงจุดนี้ Project Ara เริ่มจะเข้าใกล้ความจริงขึ้นไปทุกที แต่แล้วก็ไม่เป็นไปอย่างที่คาด เดือนสิงหาคม 2015 Google ได้ตัดสินใจเลื่อนการวางจำหน่าย Spiral 2 ในเปอโตริโกออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำเอาผู้ที่กำลังรอคอยโปรเจ็คท์นี้ต้องฝันค้างไปตามๆ กัน
Developer Edition
ต่อมาในงาน Google I/O 2016 สมาร์ทโฟนใน Project Ara ก็ได้กลับมาอีกครั้ง ในชื่อ "Developer Edition” ซึ่งคราวนี้มีดีไซน์ที่เปลี่ยนจากคอนเซ็ปต์ดั้งเดิมไปมาก โดยโครงหลักของตัวเครื่องจะมีชุดประมวลผล, ตัวรับสัญญาณ, หน้าจอ, แบตเตอรี่ และเซ็นเซอร์ต่างๆ ติดตั้งมาให้แล้ว ซึ่งถอดเปลี่ยนไม่ได้ แต่ก็มีการปรับปรุงการเชื่อมต่อโมดูลให้ดีกว่าเดิม ทั้งคอนเน็คเตอร์ที่ทนทานขึ้น และการถอดเปลี่ยนโมดูลแบบ hot-swap โดยไม่ต้องบูตเครื่องใหม่ เท่านั้นยังไม่พอ ยังสามารถสั่งถอดโมดูลด้วยเสียงผ่าน Google Assistant ได้ด้วย
Google ประกาศว่าจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นนี้อย่างเป็นทางการในปี 2017 แต่ไม่ทันไร ในเดือนสิงหาคม 2016 หลังจากประกาศว่าจะวางขายไปเพียง 3 เดือน Google ก็ได้ประกาศยุติโครงการ Project Ara อย่างเป็นทางการ ปิดฉากการเดินทางสุดทะเยอทะยานของมือถือตามสั่งไปแบบงงๆ
ทำไม Project Ara ถึงไปไม่รอด
Project Ara ไม่ใช่โปรเจ็คท์ขายฝัน เพราะมีทั้งเครื่อง demo และมีแผนที่จะวางตลาดอย่างเป็นล่ำเป็นสัน อีกเพียงแค่นิดเดียวสมาร์ทโฟนใน Project Ara ก็จะได้แจ้งเกิดในวงการมือถือแล้ว แต่ Google ก็ตัดสินใจพับโปรเจ็คท์ไปเสียดื้อๆ ซึ่งน่าเสียดายมาก
ไม่มีใครรู้เหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไม Project Ara ถึงถูกยกเลิกไปในโค้งสุดท้าย และทาง Google ก็ไม่เคยออกมาให้ความกระจ่างใดๆ แต่เหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้มีอยู่ 3 ข้อใหญ่ๆ ดังนี้ :
1. มันยุ่งยากเกินไป
สมาร์ทโฟนประกอบตามสั่งเป็นไอเดียที่ดี เพราะผู้ใช้สามารถเลือกจัดสเปกได้ตามใจ และเปลี่ยนชิ้นส่วนไปมาเพื่อการใช้งานที่หลากหลายได้ แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใช้ธรรมดาทั่วไปต้องการ เพราะพวกเขาเหล่านี้แค่ต้องการมือถือสักเครื่อง ที่โทรได้ เล่นโซเชียลได้ และถ่ายรูปได้เท่านั้น แค่แกะกล่อง เปิดเครื่อง ก็ใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่สำหรับมือถือใน Project Ara พวกเขาจะต้องเลือกสเปกทุกอย่างเอง ไม่ว่าจะเป็นชิปเซ็ตประมวลผล, RAM, ROM, กล้อง, แบตเตอรี่ หรืออะไรก็ตาม ซึ่งพวกเขาอาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับมันมาก่อน Project Ara จึงเข้าถึงยาก และซับซ้อนเกินกว่าที่คนส่วนใหญ่จะหยิบมาใช้งาน
2. ไม่มีเทคโนโลยีที่ดีพอมารองรับ
สมาร์ทโฟนถอดประกอบเป็นไอเดียที่ใหม่มาก ใหม่จนเรียกได้ว่ามาก่อนกาล เทคโนโลยีในขณะนั้นจึงไม่อาจรองรับไอเดียนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้การพัฒนาเป็นไปด้วยความทุลักทุเล จนถึงจุดที่ไม่สามารถไปต่อได้
3. ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิต
อีกสาเหตุหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้ คือ Project Ara ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตมือถือรายใหญ่เท่าที่ควร เพราะสมาร์ทโฟนที่เปลี่ยนชิ้นส่วนได้เรื่อยๆ จะทำให้ผู้ใช้อยู่กับสมาร์ทโฟนเครื่องเดิมนานขึ้น และมีแนวโน้มจะสนใจมือถือรุ่นใหม่ๆ น้อยลง ยอดขายสมาร์ทโฟนก็จะลดลงไปด้วย ผู้ผลิตบิ๊กเนมทั้งหลายจึงอาจจะไม่ค่อยอยากดันไอเดียนี้สักเท่าไหร่
เรื่องราวการเดินทางของ Project Ara อาจจะไม่ยาวมากเมื่อเทียบกับนวัตกรรมอื่นๆ แต่จุดจบของมันนั้น นับว่าน่าเสียดายที่สุดสำหรับวงการสมาร์ทโฟน ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็หวังไว้ลึกๆ ว่า Google จะรื้อฟื้น Project Ara ขึ้นมาอีกครั้ง แม้จะเป็นไปได้ยากก็ตามครับ
นำเสนอบทความโดย : thaimobile center om
วันที่ : 24/11/2564