หลายปีมานี้ เทรนด์ของวงการสมาร์ทโฟนได้เปลี่ยนไปหลายอย่าง หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือการตัดแจ็คหูฟังออกไปจากตัวเครื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ พร้อมกับกลุ่มตลาดหูฟังไร้สาย TWS ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ผลักดันให้ผู้คนเข้าสู่ยุคการเชื่อมต่อไร้สายที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น
ถึงตอนนี้เชื่อว่าพวกเราส่วนใหญ่น่าจะชินกับการฟังเพลงแบบไร้สายไปแล้ว แต่ก็ยังมีผู้คนอีกมากที่เลือกซื้อสมาร์ทโฟนที่มีช่องหูฟัง โดยยังคงหวังว่าแจ็คหูฟัง 3.5 มม. จะกลับมาเป็นมาตรฐานของสมาร์ทโฟนอีกครั้ง ซึ่งระยะหลังมานี้ก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นว่าช่องหูฟัง 3.5 มม. ยังคงมีคุณค่าอยู่
จากวันนั้นถึงวันนี้ แจ็คหูฟังบนสมาร์ทโฟนยังคงมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ และควรจะนำกลับมาเป็นมาตรฐานสมาร์ทโฟนเหมือนแต่ก่อนหรือเปล่า ในวันนี้เรามาพูดคุยถึงกระเด็นนี้กันครับ
แจ็คหูฟังบนมือถือหายไปไหน?
แจ็คหูฟังที่ใช้กันในสมาร์โฟนและอุปกรณ์ทั่วไปในปัจจุบัน เป็นขนาด 3.5 มม. ซึ่งเป็นไซส์ mini ถูกออกแบบขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี้นี้แทบไม่ได้เปลี่ยนไปเลย เพราะมันสามารถตอบโจทย์ได้อย่างครบถ้วนมาตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นขนาดที่เล็กกะทัดรัด, ความทนทาน, ต้นทุนการผลิตราคาถูก และเป็นมาตรฐานสากล รองรับหูฟังได้ทุกยี่ห้อตั้งแต่รุ่นถูกๆ ไปจนถึงรุ่นแพงๆ นอกจากนี้มันยังใช้ต่อกับไมโครโฟนได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของแจ็คคือสายสัญญาณที่เชื่อมต่อระหว่างเครื่องเล่นกับหูฟัง (หรือสายหูฟังนั่นแหละ) ซึ่งในยุคแรกๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เมื่อเข้าสู่ยุค portable ที่อุปกรณ์หลายอย่างสามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ง่าย สายหูฟังก็เริ่มจะกลายเป็นอุปสรรคในการทำกิจกรรมต่างๆ จึงได้มีการคิดค้นหูฟังแบบไร้สายที่ส่งสัญญาณผ่าน Bluetooth ขึ้นมา
iPhone 7 กับ AirPods
แจ็คหูฟังและเทคโนโลยี Bluetooth อยู่ร่วมกันในฐานะส่วนหนึ่งของโทรศัพท์มือถือมาโดยตลอด จนกระทั่ง Apple ตัดสินใจตัดแจ็คหูฟังออกจาก iPhone 7 ในปี 2016 นับเป็นการตัดสินใจที่กล้ามาก และเหนือความคาดหมายของทั้งผู้ใช้และนักวิจารณ์ หลังจากนั้น เจ้าอื่นก็เริ่มที่จะเอารูหูฟังออกจากสมาร์ทโฟนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Samsung, LG, OPPO, Xiaomi และอื่นๆ จนกระทั่งกลายเป็นมาตรฐานใหม่ บีบให้ผู้ใช้ต้องเข้าสู่วิถีชีวิตแบบไร้สายอย่างช่วยไม่ได้
วิถีไร้สาย ผู้ใช้ได้อะไร?
การมาของหูฟัง Bluetooth ถือว่าแก้ปัญหาของหูฟังมีสายได้อย่างตรงจุด มันทำให้เราสามารถเพลิดเพลินไปกับเพลงโปรด พร้อมกับเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมกันได้โดยไม่มีอะไรมารุงรัง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ทำงานบ้าน หรือเดินเล่น อีกทั้งยังมีระยะการส่งสัญญาณที่ไกลกว่าสาย จึงไม่จำเป็นต้องมีมือถือติดตัวตลอดเวลา เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความคล่องแคล่ว คล่องตัว
ถึงแม้จะสะดวกขึ้น แต่การ “Go Wireless” ก็ต้องแลกมากับอะไรหลายๆ อย่างเช่นกัน อย่างแรกคือคุณภาพของเสียงเพลงที่ถูกลดทอนลงไป เพราะสัญญาณ Bluetooth ไม่สามารถส่งข้อมูลเสียงที่มีบิตเรตสูงๆ ได้ สำหรับคนทั่วไปอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับเหล่านักฟังที่ชื่นชอบการเสพเสียงเพลงคุณภาพสูงจะรู้สึกถึงความแตกต่างได้ไม่ยาก ขณะเดียวกัน การเชื่อมต่อแบบ Bluetooth ยังมีดีเลย์สูงกว่าการเชื่อมต่อด้วยสาย หลายครั้งภาพกับเสียงจึงไม่สามัคคีกัน อีกทั้งหูฟังไร้สายยังต้องพึ่งพาแบตเตอรี่อีกด้วย ทำให้เราต้องชาร์จอยู่เรื่อยๆ ต่างจากหูฟังแบบมีสายที่จะหยิบมาใช้งานเมื่อไหร่ก็พร้อมเสมอ อาจพูดได้ว่าวิถีไร้สายคือการสละคุณภาพเพื่อความสะดวกสบาย
อย่างไรก็ตาม การจะตัดสินว่าหูฟังแบบมีสายหรือไร้สายดีกว่ากันนั้น ก็ดูจะไม่เหมาะ เพราะไม่ว่าจะมีสายหรือไร้สายต่างก็มีข้อดีและข้อเสียเป็นของตัวเอง แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำไมผู้ผลิตสมาร์ทโฟนถึงต้องบีบให้เรา Go Wireless ทั้งที่เราสามารถมีทั้งแจ็คหูฟังและ Bluetooth ไปพร้อมๆ กันได้?
ทำไมต้อง Go Wireless?
จากสถิติเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2016 หูฟังแบบมีสายยังคงครองตลาดส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดยมียอดขายคิดเป็น 83% ของยอดขายทั้งหมด ในขณะที่หูฟัง Bluetooth มียอดขายเพียง 17% เท่านั้น อย่างไรก็ดี หูฟัง Bluetooth กลับทำเงินได้มากกว่า โดยคิดเป็น 54% ของมูลค่าทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า หูฟัง Bluetooth สามารถทำกำไรได้มากกว่าหูฟังมีสายหลายเท่า และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนพยายามบีบให้ผู้ใช้ต้อง Go Wireless
นอกจากนี้ หากเราลองสังเกตดูจะพบว่าแบรนด์สมาร์ทโฟนใหญ่ๆ ในปัจจุบันมักจะมีแบรนด์เครื่องเสียงอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็น Apple ที่มี beats หรือ Samsung ที่มี AKG เป็นไปได้หรือไม่ว่ากลุ่มบิ๊กเนมเหล่านี้ต้องการที่จะลุยตลาดหูฟังไร้สายอย่างจริงจัง เพื่อที่จะทำกำไรจากการ Go Wireless ของผู้ใช้?
แจ็คหูฟังยังจำเป็นอยู่ไหม?
หากพูดกันถึงความจำเป็น อาจพูดได้ว่าแจ็คหูฟังไม่ได้สำคัญเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะปัจจุบันนี้หูฟังไร้สายมีราคาที่ถูกลง และมีคุณภาพเสียงในระดับที่รับได้ (ถูกที่สุดที่ผู้เขียนเคยเห็นคือ 300 บาท) ถ้าเราต้องการใช้หูฟังมีสายจริงๆ ก็ยังมีสายแปลงแจ็คหูฟังให้ใช้ต่อกับ USB Type-C ซึ่งมันก็พอจะทดแทนกันได้ แต่นั่นหมายความว่า ผู้บริโภคจะต้องเสียเงินซื้อสายแปลงเพิ่มเพียงเพราะแค่อยากจะใช้หูฟังที่มีสาย ซึ่งมันก็ดูไม่ค่อยจะยุติธรรมเท่าไรนัก และนำไปสู่คำถามเดิมที่ว่า ทำไมเราถึงมีทั้งแจ็คหูฟังและ Bluetooth ไปพร้อมกันเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ ทั้งที่มันทำได้ และไม่ยากด้วย
สุดท้ายแล้ว แจ็คหูฟังอาจจะไม่มีความจำเป็นต่อวงการสมาร์ทโฟนแล้วจริงๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยี Bluetooth และหูฟังไร้สาย ยังไม่สามารถมาแทนที่แจ็คหูฟังได้อย่างสมบูรณ์ และมันจะดีกว่านี้หากผู้บริโภคสามารถเลือกได้ครับ
แหล่งอ้างอิง
https://www.statistaom/chart/5733/headphone-sales-in-the-united-states/
นำเสนอบทความโดย : thaimobile center om
วันที่ : 26/11/2564