สมาร์ทโฟนในปัจจุบัน หากไม่ใช่สมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้น ก็มักจะมากับระบบชาร์จแบตเตอรี่ความเร็วสูงกันแทบทั้งสิ้น และเทคโนโลยีนี้ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เร็วขึ้นเรื่อยๆ อย่างล่าสุดก็ทะลุ 120W ไปแล้ว ซึ่งใช้เวลาชาร์จแบตจนเต็มเพียงแค่ 20 นาทีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยการจ่ายกำลังไฟเข้าสู่แบตเตอรี่ที่มากขึ้น ทำให้หลายคนกังวลว่าระบบชาร์จไวอาจทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็ว หรืออาจถึงขั้นระเบิดได้ แต่ความจริงแล้วเป็นอย่างไร และเราควรกังวลแค่ไหน วันนี้เราไปหาคำตอบกันครับ
ระบบชาร์จไว ทำงานอย่างไร
ระบบชาร์จแบตเตอรี่ความเร็วสูงมีการทำงานหลักๆ เหมือนกับการชาร์จทั่วไป เพียงแต่จะจ่ายไฟเข้าสู่แบตเตอรี่มากกว่าปกติด้วยการเพิ่มแรงดันไฟฟ้า (V) หรือกระแสไฟฟ้า (A) โดยมีการฝังชิปควบคุมไว้ที่อุปกรณ์ชาร์จ และในสมาร์ทโฟน เมื่อต่อสายชาร์จ ชิปทั้งสองจะตรวจสอบกันและกัน หากเป็นมาตรฐานเดียวกันจึงจะเริ่มชาร์จด้วยความเร็วสูงตามมาตรฐานนั้นๆ แต่ถ้าไม่ตรงกัน ก็จะจ่ายไฟต่ำสุดเหมือนการชาร์จแบตเตอรี่ทั่วไปแทน
ระบบชาร์จเร็วจะจ่ายไฟมากน้อยตามสถานะของแบตเตอรี่ โดยจะลดกำลังไฟลงเมื่อแบตใกล้เต็มเพื่อควบคุมความร้อน และป้องกันการลัดวงจร ทำให้การชาร์จในช่วงแรกเร็วมาก และจะช้าลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อชาร์จถึงระดับ 70% - 80% ขึ้นไป ดังนั้นถ้าทุกอย่างทำงานถูกต้อง ระบบชาร์จไวจะไม่ทำความเสียหายต่อแบตเตอรี่โดยตรงอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ระบบชาร์จความเร็วสูงก็มีส่วนทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วกว่าปกติจริง แม้กระทั่งผู้ผลิตเองก็เคยออกมายอมรับในส่วนนี้ ตัวอย่างเช่น Xiaomi ที่เคยยอมรับว่า ระบบชาร์จไว 100W Super Charge Turbo ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วกว่าการชาร์จแบบ 30W Power Delivery ราวๆ 20%
ถ้ากำลังไฟไม่ใช่ตัวการทำแบตเสื่อม แล้วอะไรกันแน่ที่ทำให้แบตเสื่อม? คำตอบอาจเป็น “ความร้อน”
ความร้อนทำร้ายแบตอย่างไร
การชาร์จแบตเตอรี่จะเกิดความร้อนขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งจ่ายกระแสไฟเข้าไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งร้อนมากขึ้นเท่านั้น ระบบชาร์จไวจึงทำให้แบตเตอรี่ร้อนกว่าการชาร์จแบบปกติ ซึ่งนั่นทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วขึ้น โดยเฉพาะกับแบตเตอรี่ประเภทลิเธียม-ไอออน (Li-ion) ที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
ความร้อนที่เกิดขึ้นจะเร่งให้ปฏิกิริยาทางเคมีภายในตัวแบตเกิดไวขึ้น เช่นการสึกกร่อนของขั้วอิเล็กโทรด และยังทำให้ของเหลวในแบตเตอรี่ระเหยเร็วขึ้น ส่งผลให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ และเก็บประจุได้น้อยลงเรื่อยๆ
โดยเฉลี่ยแล้ว ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 0°C แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนในสมาร์ทโฟนจะสูญเสียความจุ 6% ต่อปี เมื่ออุณหภูมิเฉี่ลยเพิ่มขึ้นเป็น 25°C ก็จะสูญเสียความจุมากขึ้นเป็น 20% ต่อปี และที่อุณหภูมิ 40°C จะสูญเสียความจุมากถึง 35% ต่อปี หมายความว่าแบตเตอรี่ความจุ 5,000 mAh ที่ถูกใช้งานในอุณหภูมิเฉลี่ย 40°C เป็นเวลา 1 ปี จะมีความจุลดลงเหลือเพียงแค่ 3,000 mAh เท่านั้น จะเห็นได้ว่าความร้อนส่งผลต่อแบตเตอรี่อย่างมากเลยทีเดียว
เราควรกังวลแค่ไหน?
แม้ระบบชาร์จไวจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วกว่าปกติก็จริง แต่ก็ไม่ได้น่ากังวลขนาดนั้น เพราะกว่าที่ระบบชาร์จเร็วจะพร้อมนำมาใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ได้ ทางผู้ผลิตก็ต้องมีการทดสอบจนมั่นใจแล้วว่าปลอดภัย และไม่ทำให้แบตเสื่อมเร็วจนรับไม่ได้แน่นอน เพราะคงไม่มีใครอยากเอาชื่อเสียงของแบรนด์ตัวเองมาเสี่ยงแน่ๆ อย่างระบบชาร์จไว 120W ของ Xiaomi ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน ก็มีอัตราเสื่อมของตัวแบต 20% ต่อการชาร์จ 800 cycle หรือถ้าคำนวณกันคร่าวๆ ก็คือ 800 - 1,000 ครั้ง ซึ่งกว่าเราจะชาร์จไปถึงขั้นนั้นก็น่าจะใช้งานมาเป็นปีแล้ว และอาจจะเปลี่ยนเครื่องไปแล้วด้วยซ้ำ ดังนั้นเราจึงสามารถใช้งานระบบชาร์จไวต่อไปได้อย่างสบายใจ ไม่ว่าจะมีกำลังไฟกี่วัตต์ก็ตาม
อย่างไรก็ดี หากต้องการถนอมแบตเตอรี่ให้อยู่กับเรานานที่สุด แนะนำว่าไม่ควรเล่นมือถือระหว่างชาร์จ เพราะจะทำให้ตัวเครื่องร้อนขึ้นไปอีก และไม่ควรชาร์จมือถือทิ้งไว้ในที่ร้อนๆ หรือโดนแดดโดยตรง เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้ประโยชน์จากระบบชาร์จไวได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องแบตแล้วครับ
นำเสนอบทความโดย : thaimobile center om
วันที่ : 30/11/2564