จี้ ก.ดิจิทัล แจงมาตรการช่วยคนไทย 2 ค่ายมือถือควบรวม-“ชัยวุฒิ” ยัน รบ.ไม่เอื้อประโยชน์ให้ใคร

“ก้าวไกล” จี้ ก.ดิจิทัล แจงมาตรการช่วยคนไทย หลัง 2 ค่ายมือถือยักษ์ควบรวมกิจการ อัด กขค.-กสทช. โยนกันไปมาปัดความรับผิดชอบ อ้างไม่อำนาจทั้งที่มี กม.ในมือ ยกตัวอย่างผลการศึกษาหลายประเทศกระอัก เจอค่าบริการขึ้นหลังรวมธุรกิจสื่อสาร แขวะ รบ. เข้าใจหัวอกนายทุน แต่ไม่สนหัวอกคนไทย ด้าน “ชัยวุฒิ” อ้างแค่กระบวนการเริ่มต้น ยังไม่สามารถก้าวก่ายได้ ยัน รบ. ไม่เอื้อประโยชน์ให้ใคร

วันนี้ (25 พ.ย.) นายปกรณ์วุฒิ​ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กระทู้ถามสดเรื่องการควบรวกิจการบริษัท ทรู กับ ดีแทค ว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอำนาจขอบเขตในการพิจารณารายละเอียด ผลกระทบครั้งนี้เป้นของใคร คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เพราะทาง กสทช.มีการอ้างถึงประกาศของ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลควบรวมธุรกิจการกระจายเสียงโทรทัศน์และโทรคมนาคม มีการระบุว่าหากประสงค์จะทำธุรกิจจะต้องรายงานต่อ กสทช.ไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนการดำเนินการ ซึ่งทางหน่วยงานอ้างว่าขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น ทางบริษัทจึงยังไม่ต้องมารายงาน และ กสทช.ยังไม่มีอำนาจที่จะทำอะไรได้ และถึงแม้จะมีการรายงานแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีอำนาจยับยั้ง ทำได้เพียงกำหนดมาตรการเฉพาะขึ้นมาเท่านั้น และ กขค.ก็อ้างตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ม.4(4) ที่ระบุว่า มิให้บังคับใช้กับธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ม.27(11) ก็ระบุชัดว่า กสทช.มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันกิจการโทรมคนาคมทันทีโดยไม่ต้องรอให้บริษัทมารายงานก่อน

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่ควรต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น คือ แอบแลกเปลี่ยนข้อมูลความลับทางการค้าระหว่างกัน หรือที่เรียกว่า Jumping ซึ่งอันตรายต่อการแข่งขันอย่างมาก ในต่างประเทศก็มีคดีแบบนี้จำนวนมหาศาล และแม้จะออกประกาศได้ก็ยังมีปัญหาเพราะขณะนี้เหมือนเกิดสภาวะสุญญากาศขึ้นมา เพราะองค์กรที่สามารถระงับยับยั้งการควบรวมอย่าง กขค.ไม่สามารถพิจารณาควบควมธุรกิจโทรคมนาคมได้ เพราะมีกฎหมายเฉพาะอยู่แล้ว แต่กฎหมายเฉพาะอย่าง พ.ร.บ.กสทช.กลับไม่ให้อำนาจยับยั้งการควบรวมเอาไว้ การตีความเช่นนี้จะทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมลายเป็นธุรกิจที่ไม่มีหน่วยงานรัฐใดเลยมีอำนาจในการระงับการควบรวมที่อาจทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาดได้ เรื่องที่ใหญ่แบบนี้กลับไม่มีองค์กรใดบอกว่าไม่มีอำนาจตรวจสอบ อีกทั้งยังมีนักวิชาการด้านกฎหมายเสนอว่ากฎหมายการแข่งขันทางการค้าก็มีมาตรการที่ว่าด้วยการใช้อำนาจนอกเหนือทางการตลาดในทางที่ผิดและห้ามข้อตกลงที่เป็นการจำกัดการแข่งขันที่สามารถเอมาใช้ในการตรวจสอบการควบรวมในครั้งนี้ได้

“แม้ทั้งสององค์กรมีความเป็นอิสระที่รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงโดยตรงได้ แต่บางครั้งก็อิสระมากไปจนสงสัยว่าอิสระจากการตรวจสอบของประชาชนด้วยหรือไม่ และยังอยู่ภายใต้กฎหมาย โดยมีผู็บังคับใช้ คือ รัฐบาล รักษาการตาม พ.ร.บ.กสทช.คือนายกรัฐมนตรี และผู้รักษาการณ์ตาม พ.ร.บ.กขค.คือ รมว.พาณิชย์ เรื่องนี้รัฐบาลไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้ จึงขอถามว่ารัฐบาลจะมีการเรียกหน่วยงานทั้งสองพูดคุยหาทางออก มีข้อสรุปว่าใครจะรับผิดชอบ หรือจะให้กฤษฎีกาตีความว่ากฎหมายสองฉบับนี้มีปัญหาอย่างไร หรือรัฐบาลจะปล่อยเกียร์ว่างให้เกิดสูญญากาศแบบนี้ให้เกิดการควบรวมโดยไม่มีการตรวจสอบประเมินผลกระทบอะไรเลย และหากในอนาคตอาจจะมีการควบรวมกิจการอื่นๆ ที่อาศัยช่องว่างแบบนี้ที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีะพของประชาชนแบบนี้อีกหรือไม่”

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงเรื่องการควบรวมกิจการของสองหน่วยงานนี้ ที่อาจจะส่งผลให้กลายเป็นผู้ประกอบการอันดับหนึ่ง ทำให้โครงสร้างการแข่งขันในตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกคนว่าเป็นเรื่องจริง นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายให้ผู้เกี่ยวข้องไปศึกษาติดตามดูว่ามีอำนาจอะไรบ้างในการระงับยับยั้ง หรือแก้ปัญหาเรื่องนี้ หากเกิดผลกระทบต่อประชาชน แต่ขณะนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นทางธุรกิจ โดยรวมเฉพาะบริษัทที่เป็นโฮลดิ้งในตลาดหลักทรัพย์ แต่ตัวธุรกิจที่ถือคลื่นความถี่ยังไม่มีการรวมกัน มือถือดีแทค กับ ทรู ยังแยกกันทำธุรกิจ แต่ตัวผู้ถือหุ้นเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

“แต่ที่สำคัญธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ มีการลงทุนสูง และมีความเสี่ยงสูง มีการให้สัมปทาน ไม่สามารถทำให้มีการแข่งขันได้อย่างเสรีอยู่แล้ว มีการกำกับดูแลโดยหน่วยงานอยู่แล้ว ยืนยันว่า รัฐบาลเป็นห่วงและติดตามตลอด ขณะนี้อยู่ในขั้นการรวมกิจการบริษัท ไม่ถึงขั้นรวมธุรกิจ แต่เมื่อเล็งเห็นว่ามีผลกระทบ ก็มีการประสานกสทช. และกระทรวงดิจิตัลฯศึกษาเรื่องนี้อยู่ และหามาตรการกำกับดูแลอย่างไรในอนาคตอย่างแน่นอน”

นายปกรณ์วุฒิ ถามต่อว่า ตนเข้าใจว่า แม้จะเป็นการควบรวมในระดับบริษัทแม่ แต่ใน พ.ร.บ.กสทช.มีการะบุคำว่า “ผู้ควบคุมกิจการ” ซึ่งก็คือบริษัทแม่นั่นเอง เมื่อผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของเป็นรายเดียวกันทั้งสองรายถือว่าเป้นเจ้าเดียวกัน สภาพความเปนจริงที่จะเกิดขึ้นคือประชาชนจะเหลือค่ายมือถือให้เลือกเพียง2 รายใหญ่เท่านั้น ซึ่งดัชนีใช้วัดความผูกขาด หรือ HHI มีค่า 0 (แข่งขันสูงมาก) ถึง 10,000 (ผูกขาดโดยสมบูรณ์) หากค่า HHI เกิน 2,500 ถือว่าแข่งขันค่อนข้างต่ำ ก่อนหน้านี้ ธุรกิจโทรคมนาคมในไทยมีค่า HHI อยู่ที่ 3,600 หากการควบรวมครั้งนี้เกืดขึ้น HHI จะกลายเป็น 5,000 ถือว่าเพิ่มขึ้นสูงมาก สภาวะการแข่งขันที่มีน้อยอยู่แล้วจะน้อยลงไปอีก และสภาวะการผูกขาดจะสูงขึ้น หากคิดตามทฤษฎีเกม ตลาดที่มีผู้เล่น 3 ราย กับ 2 รายการตัดสินใจในด้านราคาต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยตลาดที่มีผุ้เล่น 2 ราย เมื่ออยู่ในจุดที่มีส่วนแบ่งการตลาดพอใจอยู่แล้วจะไม่เกิดการแข่งขันด้านราคาเกิดขึ้นเลย เช่น ในอดีตมีค่ายมืถือแค่ 2 ค่าย มีการล็อกอีมี่ ไม่สามารถใช้ซิมต่างค่ายได้ ค่าบริหารก็แพง จนตลาดมีหน้าใหม่เข้ามาทำให้การแข่งขันสูงขึ้น ต้องแข่งขันทั้งราคาและนวตกรรม ประชาชนได้ใช้บริการคุณภาพดีขึ้นราคาถูกลง

“แม้รัฐมนตรีจะอ้างว่าผูกขาดไม่ได้เพราะมีการแข่งขันกันหลายเจ้าอยู่แล้ว แต่การผูกขาดไม่ได้แปลว่ามีเจ้าเดียวถึงจะเรียกว่าผูกขาด แต่หากมีหลายรายแต่มีรายหนึ่งกินส่วนแบ่งตลาดไป 90 เปอร์เซนต์ ก็เรียกว่า ผู้ผูกขาดได้เช่นกัน มาตรการป้องกันการผูกขาดจึงเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการครอบงำตลาด และที่บอกว่าบางประเทศก็มีเจ้าเดียวเพราะเขามีจำนวนประชากรต่ำมาก ลงทุนไม่คุ้ม ขอถามว่าความเห็นนี้ถือเป็นความเห็นของนายชัยวุฒิถือเป็นความเห็นของ ครม.หรือไม่ นี่คือ การส่งสัญญาณว่ารัฐบาลเห็นด้วยกับการควบรวมครั้งนี้หรือไม่ รัฐบาลกำลังมองว่าการควบรวมครั้งนี้อาจจะไม่เกิดผลกระทบใดๆ เลยหรือ” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

ด้าน นายชัยวุฒิ ชี้แจงว่า ที่ตนระบุว่า มันมีการแข่งขันอยู่นั้น อยากให้เข้าใจว่าธุรกิจการสื่อสารในไทยไม่ได้มีเจ้าเดียว เพราะยังมีเอไอเอสที่ครองอันดับหนึ่ง และรัฐวิสาหกิจของไทยที่แม้จะตามอยู่ห่าง แต่การจะประสบความสำเร็จมันค่อนข้างยาก การจะสร้างลูกค้ารายใหม่ต้องดึงจากค่ายอื่นมา จึงมีการแข่งขันเรื่องราคาขึ้นมา แต่ไม่ว่าจะมีรายการโอกาสที่จะมีการฮั้ว ทำอำนาจเหนือตลาด กดดันผู้บริโภคอยู่แล้ว ดังนั้นโครงการสาธารณณูปโภคจึงต้องมีการกำกับดูแล คือ กสทช. โดยตนได้หารือกับผู้บริหารที่เป็นห่วงเรื่องนี้ และมีการศึกษาหามาตรการดูแลไม่ให้ขึ้นราคาหรือลดบริการ ลดคุณภาพที่มีผลต่อประชาชน ส่วนรัฐบาลจะเห็นด้วยกับการควบรวมธุรกิจหรือไม่ตนตอบไม่ได้ เพราะการที่เอกชนวางแผนธุรกิจ เช่นรวมเพื่อลดต้นทุนเพราะเห็นว่าไม่คุ้มค่า เป็นเรื่องที่เราไม่ทราบได้ เพราะหากไปห้ามแล้วเขาขาดทุนบริษัทไปไม่ได้เหมือนทีวีดิจิทัล ที่ต้องล้มหายตายจากไปเพราะไปไม่ได้

นายปกรณ์วุฒิ ตั้งคำถามสุดท้ายว่า จากการศึกษากรณที่เกิดขึ้นจริง ในการควบรวมธุรกิจสื่อสาร จาก 4 ราย เหลือ 3 ราย ในเยอรมันผ่านไป 1 ปี ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น 30% ไอร์แลนด์ 1 ปี เพิ่มขึ้น 12.5% ออสเตรียเพิ่มขึ้น 25% และรายงานการศึกษาของบัณฑิตยสภาของฮังการี จาก 27 ประเทศ พบว่า ผลการควบรวมจาก 5 เหลือ 4 ราย จะไม่ค่อยมีผลกระทบมากนัก แต่หากควบรวมจาก 4 เหลือ 3 ราย ทำให้ในระยะยาวค่าบริการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 24% และยังเสนอว่าผู้กำกับดูแลไม่ควรอนุญาตให้ควบรวมจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย เพราะมีความเสี่ยงสูงที่ผู้บริโภคจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นในระยะยาว แต่นี่เรากำลังจะ 3 เหลือ 2 ราย

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า การควบรวมระหว่างรายเล็กเป็นเรื่องดี เพราะทำให้สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้ แต่พอเป็นรายใหญ่ กับรายใหญ่ทำให้เกิดการผูกขาด และการลดราคาอาจจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะหากลดในฐานลูกค้าขนาดใหญ่จะทำให้ต้นทุนสูงมาก และอินเทอร์เน็ตในยุคนี้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญในการยกระดับของทุกคน แต่ปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลบอกว่ามีความจำเป็นสูงกลับกลายเป็นมีความเสี่ยงที่ประชาชนต้องจ่ายต้นทุนในการพัฒนาชีวิตตนเองเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว

“ผมฟังดูแล้วท่านเข้าอกเข้าใจกลุ่มทุนเหลือเกิน แต่ไม่มั่นใจว่า ท่านจะเข้าใจหัวอกของประชาชนมากน้อยแค่ไหน สังคมกำลังตั้งคำถามว่ารัฐกำลังทำเพื่อเอกชนเพื่อกลุ่มทุน ขอถามว่า การควบรวมครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มทุนหรือประโยชน์ของประชาชน หากเกิดขึ้นจริงและเกิดผลกระทบตามที่คาดจริงรัฐบาลมีนโยบายอะไรที่เป้นรูปธรรมป้องกนให้เกิดกับประชาชนน้อยที่สุด”

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใด เขามีการวางแผนธุรกิจกันด้วยตัวเอง แต่ต้องเข้าใจว่า ธุรกิจเกี่ยวกับสาธารณูปโภคมการลงทุนสูง และมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา เราต้องให้โอกาสเขาคิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดของเขา แต่การกำกับดูแลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง กสทช.ก็ติดตามเรื่องนี้อยู่ เช่น การกำหนดราคาขั้นสูง การกำหนดบริการขั้นต่ำ หากมีผู้ขายน้อยรายก็อาจบังคับให้ทำโฮลเซล แต่วันนี้ยังไม่ถึงจุดที่ต้องได้ข้อสรุป เพราะเพิ่งอยู่ในกระบวนการของคู่บริษัทจะไปดำเนินการ แน่ยืนยันกับประชาชนว่าเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของบริษัทกันเอง รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับประโยชน์ใด โดยเราจะติดตามและกำกับดูแลให้ดีที่สุดเพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการที่ดี รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และในราคาที่เป็นธรรม

Leave a Comment