ซีพี - เทเลนอร์ ย้ำชัด ตั้งบริษัทใหม่พัฒนาเทคโนโลยี พาไทยแข่งขันในเวทีโลก

ซีพี - เทเลนอร์ ออกมาย้ำภาพการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ด้วยการตั้งบริษัทใหม่ ผลักดันให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี และโทรคมนาคม ภายใต้ความร่วมมืออย่างเท่าเทียม (Equal Partnership)

นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างเทเลนอร์ และเครือซีพีในครั้งนี้ว่า เป็นการเตรียมความพร้อมสำเร็จความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในช่วง 20 ปีข้างหน้า เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคแล้ว

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทย รวมถึงในภูมิภาคอาเซียน และทั่วโลกมีการใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพียงอย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์เพื่อสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุดให้แก่ผู้บริโภคแล้ว”

เมื่อเทคโนโลยีทั้ง 5G AI IoT และ Cloud ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการทำธุรกิจ ทำให้เวทีการแข่งขันของประเทศไทยไม่ใช่อยู่ในระดับท้องถิ่นอีกต่อไป แต่เป็นการแข่งขันในระดับภูมิภาค และระดับโลก ดังนั้นจึงมั่นใจว่าการตั้งบริษัทใหม่ร่วมกันในครั้งนี้ จะช่วยพาประเทศไทยไปแข่งขันในเวทีระดับโลกได้

โดยการตั้งองค์กรที่มีความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี และโทรคมนาคม เพื่อเป็นแรงผลักดันสร้างนวัตกรรมด้านดิจิทัลของประเทศไทย จะเป็นการลงทุนระหว่างเครือซีพี และเทเลนอร์ ภายใต้ความร่วมมืออย่างเท่าเทียม (Merger of Equals) ซึ่งหลังจากตั้งบริษัทแล้วจะทำให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้ราว 2.17 แสนล้านบาท คิดเป็นกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 8.3 หมื่นล้านบาท และมีส่วนแบ่งทางการตลาด ต่ำกว่า 40%

“เมื่อดูถึงรายได้ในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบรอดแบนด์แล้ว เอไอเอส ยังคงเป็นผู้ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด และเป็นพี่ใหญ่ให้ทั้ง 2 บริษัทนี้เช่นเดิม”

ทั้งนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ กระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะทางธุรกิจ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ไปพร้อมกับการวางแผนงานด้านความร่วมมือจากวันแรก และวันต่อๆ ไป ก่อนเข้าสู่การลงนามข้อตกลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 1 ต่อเนื่องไปยังไตรมาสที่ 2 ของปี 2565

ในระหว่างกระบวนการต่างๆ เกิดขึ้นนี้ ทั้งดีแทค และทรู ยังคงให้บริการลูกค้า และดำเนินธุรกิจตามปกติ ตลอดจนการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ แล้วเสร็จ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า สิ่งที่เผชิญอยู่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของเทคโนโลยีอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) คลาวด์ และเทคโนโลยีเกี่ยวกับอวกาศ

“ทรู และดีแทค มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้ และยังคงเป็นผู้ประกอบการที่ทำด้านโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมเป็นหลัก จนไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผู้บริโภค และประเทศไทยได้ บทบาทใหม่นี้ จะกลายเป็นก้าวสำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศน์การสร้างเทคโนโลยี”

ศุภชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ความร่วมมือระหว่างกลุ่มเทเลนอร์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นการผนึกกำลังที่เป็นวิถีใหม่ของการดำเนินเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการแข่งขันในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค จนถึงระดับมหาอำนาจของโลก เพื่อทรานฟอร์มประเทศให้มีเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

***dtac ชี้แจงกสทช.

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (22 พ.ย. 2564) เวลา 13.00 น. นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ดีแทค ได้เดินทางมาชี้แจ้งที่สำนักงานกสทช.ว่า ขณะนี้การดำเนินการอยู่ระหว่างระดับบน คือ เทเลนอร์ และซีพี ดังนั้นจึงยังไม่เกี่ยวข้องกับกสทช.

ส่วนระดับกลางซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2565 นั้น เป็นระดับของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ดีแทค ซึ่งยังไม่มีการเจรจากันถึงระดับล่างในบริษัทผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจากกสทช.คือบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น)และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) จึงยังไม่เข้าเงื่อนไข กฎเกณฑ์ หรือ ประกาศของ กสทช. แต่อย่างใด

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช. กล่าวว่า แม้ว่าสำนักงานกสทช.มีการชี้แจงว่าไม่สามารถห้ามการควบรวมของทรูฯและดีแทค ได้ เพราะไม่ได้เป็นบริษัทผู้รับใบอนุญาต แต่ทั้งสองบริษัทคือบริษัทแม่และเป็นผู้ถือหุ้นของทั้งดีทีเอ็นและทียูซี ดังนั้นกสทช.ต้องดูและมีการกำหนดเงื่อนไขการให้บริการไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาดหรือเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งตามระเบียบแล้วทั้ง 2 บริษัทต้องแจ้งให้กสทช.ทราบก่อนการควบบริษัท 90 วัน และสำนักงานกสทช.แจ้งว่ากสทช.ไม่สามารถยับยั้งการควบบริษัทได้ ซึ่งตนเองก็ยังคาใจว่ากฎหมายเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ซึ่งต้องขอดูในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ดีแทคให้เหตุผลว่าเรื่องนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าสุดท้ายแล้วดีทีเอ็นและทียูซีจะควบบริษัทเป็นบริษัทเดียวกันหรือไม่ หากจะมีความชัดเจนก็คงครึ่งหลังของปี 2565 เพราะตอนนี้อยู่ในขั้นตอนแรกระหว่างซีพีและเทเลนอร์ ซึ่งเขาบอกว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบทรัพย์สินกันให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรก ปี 2565 จากนั้นจึงเป็นลำกับขั้นของการรวมทรูกับดีแทคเป็นบริษัทเดียว และมีบริษัทใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็ต้องใช้เวลาดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายอีกประมาณ 6 เดือน ในการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย,แจ้งกระทรวงพาณิชย์

บริษัทลูกอย่างดีทีเอ็นและทียูซียังมีแบรนด์ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือให้บริการอยู่ในมุมผู้บริโภคก็อาจจะไม่รู้สึกอะไร หากแต่จะมีบริษัทแม่เป็นบริษัทเดียวกัน แต่หากลงมาถึงระดับล่างทั้งดีทีเอ็นและทียูซี รวมเป็นบริษัทเดียวในมุมผู้บริโภคจะมีตัวเลือกในการใช้บริการน้อยลง ซึ่งกสทช.ต้องกำกับดูแลและวางเงื่อนไขในการให้บริการไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ

Leave a Comment